ผู้สมัครงาน
เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขของปานามาฉีดพ่นยาฆ่ายุง เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสซิกา (ภาพ: AFP)
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกายืนยันในวันอังคารว่า พบผู้ติดเชื้อไวรัส ซิกา ผ่านการมีเพศสัมพันธ์เป็นรายแรกเท่าที่มีข้อมูลจนถึงตอนนี้ ที่รัฐเทกซัส หลังจากก่อนหน้านี้เชื่อกันว่าซิกาติดต่อผ่านยุงลายเท่านั้น...
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สำนักงานบริการสังคมและสาธารณสุขเขตดัลลัส เคาน์ตี (DCHHS: ดีซีเอชเอชเอส) ในรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา ระบุในการแถลงการณ์เมื่อวันอังคารที่ 2 ก.พ. 2016 พบผู้ติดเชื้อไวรัส 'ซิกา' จากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับมาจากประเทศที่ไวรัสชนิดนี้ระบาดในช่วงที่ผ่านมา โดยได้รับการยืนยันจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC: ซีดีซี) แล้วว่าคนไข้ติดเชื้อจริงๆ และนี่นับเป็นการติดส่งผ่านเชื้อในสหรัฐฯ ครั้งแรก เนื่องจากผู้ป่วยในสหรัฐฯ ที่พบก่อนหน้านี้ล้วนเป็นนักเดินทางที่มาจากพื้นที่เสี่ยงทั้งสิ้น
"CDC ได้ยืนยันผ่านผลการทดสอบในห้องแล็บว่าเกิดการติดเชื้อไวรัสซิการายแรกที่ไม่ใช่นักเดินทางในสหรัฐฯ" DCHHS ระบุ "จากการสืบสวนของหน่วยงานสาธารณสุขดัลลัสเคาน์ตี พบว่าคนผู้หนึ่งซึ่งเพิ่งเดินทางไปยังพื้นที่ไวรัสซิการะบาดกลับมายังสหรัฐฯ และเริ่มแสดงอาการป่วยของไวรัสตัวนี้พร้อมๆ กับคู่หลับนอนของเขา ซึ่งไม่ได้เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงแต่อย่างใด"
CDC ยังเตือนด้วยว่า วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไวรัสซิกาคือ การป้องกันตัวจากยุงลาย และหลีกเลี่ยงสัมผัสกับน้ำอสุจิของผู้ที่สัมผัสหรือติดเชื้อไวรัสซิกา "เราไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดเกี่ยวกับช่วงเวลาของการติดต่อของเชื้อ และจะให้ข้อแนะนำเพิ่มเติมหากเรามีข้อมูลมากกว่านี้แล้ว คู่หลับนอนสามารถป้องกันตัวเองได้ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ส่วนผู้ติดเชื้อซิกาสามารถปกป้องผู้อื่นได้ด้วยการป้องกันตัวไม่ให้ถูกยุงกัด"
ก่อนหน้านี้เชื่อว่ายุงลายเท่านั้นที่เป็นพาหะส่งเชื้อไวรัสซิกาเข้าสู่คน (ภาพ: AP)
ด้าน นาย ซาคารี ธอมป์สัน ผู้อำนวยการของ DCHHS แถลงว่า เราติดตามผู้ป่วยรายนี้มา 1-2 สัปดาห์แล้ว แต่เจ้าหน้าที่รอการยืนยันจาก CDC ว่าผู้ป่วยติดเชื้อซิกาจริง ก่อนจะเปิดเผยเรื่องราวออกมา "ตอนนี้เราทราบแล้วว่า ไวรัสซิกาสามารถติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ได้ เรื่องนี้ได้เพิ่มข้อมูลแก่การรณรงค์ให้ความรู้แก่สังคมเกี่ยวกับการป้องกันตัวเองและผู้อื่น" นายธอมป์สันกล่าว
ทั้งนี้ ไวรัสซิกาถูกพบครั้งแรกในประเทศยูกันดา ตั้งแต่ปี 1947 แต่ไม่เคยแพร่กระจายเป็นวงกว้างเช่นนี้ ก่อนที่จะมีรายงานพบไวรัสตัวนี้เป็นครั้งแรกในทวีปอเมริกาใต้ ที่ประเทศบราซิล เมื่อเดือน พ.ค. 2015 โดยเจ้าหน้าที่ของ WHO ระบุว่า เชื้อตัวนี้แพร่กระจายโดยมียุงลายซึ่งพบได้ในเกือบทุกประเทศในทวีปอเมริกา และคาดว่าจนถึงขณะนี้มีผู้ติดเชื้อซิกาในบราซิลมากถึง 1.5 ล้านคน แต่ตรวจสอบได้ยากเพราะผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ราว 80% ไม่แสดงอาการป่วย
ในเวลาเดียวกัน จำนวนเด็กทารกเกิดมาพร้อมกับภาวะศีรษะเล็กในภูมิภาคดังกล่าวก็เพิ่มสูงขึ้นมากเช่นกัน โดยในบราซิลพบทารกป่วยแล้วถึง 4,000 ราย ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ไวรัสซิกาอาจเป็นสาเหตุหรือไม่ แต่ยังไม่มีการยืนยันเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ กระนั้น นางมาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ระบุว่า พวกเขาเชื่ออย่างยิ่งว่าข้อสงสัยนี้เป็นความจริง และเป็นเรื่องที่น่าหวาดกลัวมาก.
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved
jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด